พัฒนาการครูสอนภาษาจีนในประเทศไทยและการแนะแนวศึกษาต่อเพื่อเป็นครูภาษาจีนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

พัฒนาการครูสอนภาษาจีนในประเทศไทย
และการแนะแนวศึกษาต่อเพื่อเป็นครูภาษาจีนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

พัฒนาการครูสอนภาษาจีนในประเทศไทยและการแนะแนวศึกษาต่อเพื่อเป็นครูภาษาจีนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
พัฒนาการครูสอนภาษาจีนในประเทศไทยและการแนะแนวศึกษาต่อเพื่อเป็นครูภาษาจีนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

อยากเป็น ครูภาษาจีน เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หรือเรียนคณะมนุษย์ศาสตร์/ศิลปศาสตร์ดี  เป็นคำถามที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่อยากเป็นครูภาษาจีนสงสัยและต้องการคำตอบ วันนี้เรามาอ่านพัฒนาการครูสอนภาษาจีนในประเทศไทยและการแนะแนวศึกษาต่อเพื่อเป็น ครูภาษาจีนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษากัน

  1. พัฒนาการครูสอนภาษาจีนในประเทศไทย

          นับตั้งแต่มีหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ.2544 โรงเรียนไทยได้เปิดโอกาสให้เรียนภาษามากยิ่งขึ้น แต่ภาษาจีนก็ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าใดนัก จะทำการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนบางแห่งเท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2553 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเปิดโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ให้ผู้เรียนมีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานของสากล หรือมาตรฐานของประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูง ซึ่งส่งผลให้โรงเรียนในประเทศไทยได้เปิดหลักสูตรวิชาภาษาจีนในทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศของผู้เรียน

1.1 ครูผู้สอนวิชาภาษาจีนในยุคโรงเรียนมาตรฐานสากลในช่วงเริ่มต้น

          ช่วงประมาณปี พ.ศ.2553 ที่มีการเปิดทำการเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนที่ดำเนินการโรงเรียนมาตรฐานสากล ผู้เขียนจะแบ่งยุคแรกนี้ออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ

  1. ช่วงเริ่มต้น ในช่วงระยะนี้ ทางโรงเรียนได้ส่งคณะครูในโรงเรียนเข้าร่วมอบรมจากสถาบันที่มีการเรียนการสอนภาษาจีน หรือเข้าร่วมการอบรมภาษาและวัฒนธรรมจีนกับทางสถาบันขงจื่อ ในภูมิภาคต่างๆ แล้วมาสอนให้กับนักเรียน ซึ่งครูที่เข้าร่วมอบรมอาจจะไม่ได้เรียนจบภาษาจีนในระดับอุดมศึกษาโดยตรง อาจจะเป็นครูที่สอนภาษาต่างประเทศ ครูฝ่ายวิชาการ ครูที่รับผิดชอบหลักสูตรของโรงเรียน  ทำให้ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาภาษาจีนอาจจะไม่ได้ลึกเท่าที่ควร
  2. ช่วงทุนการศึกษาด้านการสอนภาษาจีน เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเปิดโรงเรียนมาตรฐานสากล ทำให้มีการริเริ่มโครงการ ให้ทุนการศึกษาด้านการสอนภาษาจีน แก่นักศึกษาวิชาเอกภาษาจีน เพื่อกลับมารับราชการเป็นครูสอนภาษาจีนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในปีการศึกษา 2551-2553 ปีละ 100 ทุน ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ สำนักส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Hanban) ทำให้มีครูผู้สอนภาษาจีนที่จบวุฒิการศึกษาจากสาขาวิชาภาษาจีนมากขึ้น และมีโรงเรียนที่เปิดหลักสูตรภาษาจีนเพิ่มขึ้น
  3. ช่วงครูอาสาสมัครชาวจีน     เพื่อสอดรับกับนโยบายโรงเรียนมาตรฐานสากล การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศมีความจำเป็นที่ต้องเรียนและสัมผัสกับเจ้าของภาษาโดยตรง ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ สำนักส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Hanban) จึงได้มีโครงการเปิดรับสมัครครูอาสาสมัครชาวจีนขึ้น ช่วงระยะเวลานี้ จะพบว่ามีครูอาสาสมัครชาวจีนในสถานศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาหรือแม้แต่ในระดับอุดมศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยผ่านทางสถาบันขงจื่อและศูนย์เครือข่ายส่งเสริมภาษาจีนในโรงเรียนต่างๆในแต่ละภูมิภาค

1.2 ครูผู้สอนวิชาภาษาจีนในยุคปัจจุบัน

          หลังจากที่โรงเรียนในหลายโรงเรียนเปิดหลักสูตรภาษาจีน ทำให้เกิดความต้องการครูภาษาจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ครูภาษาจีนมีความขาดแคลน เกิดการจ้างครูในลักษณะของอัตราจ้างในเริ่มแรกและพัฒนาและเปิดรับบรรจุครูภาษาจีนขึ้น ผู้เขียนขอแบ่งช่วงเวลานี้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มครูภาษาจีนที่จบหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ได้แก่ นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรศิลปศาตรบัณฑิต ในคณะมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์  คณะศิลปะศาสตร์หรือคณะอื่นๆ ที่ได้รับวุฒิ ศศ.บ. ในสาขาวิชาภาษาจีน ภาษาจีนธุรกิจหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะศึกษาในระดับปริญญาตรี 4 ปี หลังจากจบการศึกษาในช่วงนั้น สาขาวิชาภาษาจีนเป็นสาขาวิชาที่มีความขาดแคลนมาก แต่ไม่มีผู้จบครูโดยตรง ทำให้กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้สามารถคุณสมบัติสอบบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดของ สพฐ. /สังกัด อปท. /และสังกัด สอศ. ได้

ทว่ากลุ่มนี้ต้องเรียนต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) เพื่อให้ได้รับใบประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายที่กำหนดไว้ เช่น กรณีการสอบบรรจุขเราชการครู ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2560 ได้อนุญาตให้ผู้ที่จบวุฒิ ศศ.บ. ภาษาจีนหรือที่เกี่ยวข้องกับภาษาจีน เข้าสอบได้ และเรียน ป.บัณฑิตในภายหลัง แต่ปัจจุบันการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานองค์กรปกครองท้องถิ่น จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเท่านั้น หากไม่มีจะนับเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและไม่มีสิทธิ์สอบ  แต่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษายังถือว่ามีคุณสมบัติสอบได้

2. กลุ่มครูภาษาจีนที่จบหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต/ครุศาสตรบัณฑิต ในระยะแรกกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยมากเพราะสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยเปิดทำการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้เป็นจำนวนน้อย ต่อมาเริ่มมีการเปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรครุศาสตร สาขาการสอนภาษาจีนในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วภูมิภาคในช่วงแรก เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในภาคเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา ในภาคตะวันออก เป็นต้น

ในเริ่มแรกหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต/ครุศาสตรบัณฑิต จัดทำการเรียนการสอนในหลักสูตรระยะเวลา 5 ปี โดยให้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพในชั้นปีที่ 5 หลังจบการศึกษาจะได้รับใบประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติ

ต่อมาในปี พ.ศ.2562 ได้มีการเริ่มปรับหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต/ครุศาสตรบัณฑิตเหลือเพียง 4 ปีเท่านั้น (บางแห่งอาจจะยังเป็นหลักสูตร 5 ปีเช่นเดิม) และมีกฎเกณฑ์ใหม่ว่าผู้ที่เรียนในหลักสูตร การศึกษาบัณฑิต/ครุศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2562 จะต้องเข้าสอบวิชาความรู้วิชาชีพให้ผ่านก่อน ถึงจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครู (ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องสอบเฉพาะวิชาชีพครู วิชาเอก วิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร วิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิชาภาษาและเทคโนโลยีดิจทัล ต้องดูประกาศของคุรุสภาในช่วงเวลานั้น)

หลังจากเรียนจบกลุ่มนักศึกษาวุฒิการศึกษาบัณฑิต/ครุศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาจีนและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพก็จะผ่านคุณสมบัติในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้เลย

2. อยากเป็น ครูภาษาจีน เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หรือเรียนคณะมนุษย์ศาสตร์/ศิลปศาสตร์ดี

          มาถึงสาระและใจความที่นักเรียนหลายคนสงสัย และตัดสินใจว่า หากอยากเป็นครูสอนภาษาจีน ควรจะเรียนในคณะอะไรดี ผมขอแนะนำว่า อย่าดูแค่คณะอย่างเดียว ต้องดูที่วุฒิของหลักสูตร หากเป็นวุฒิ ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) การศึกษาศาสตรบัณฑิต (กศ.บ.) และ ครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ผมแนะนำสมัครเรียนได้เลยเพราะหลักสูตรเหล่านี้ได้เลย เพราะเป็นวุฒิของครูโดยตรง มีโอกาสสอบใบประกอบวิชาชีพได้เลย (อาจจะเสียค่าสมัครบ้าง)

แต่หากเป็นวุฒิ ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)  แม้จะมีชื่อสาขาวิชาว่าการสอนภาษาจีนหรือเรียนวิชาครูก็ตาม จะไม่ใช่วุฒิครู สาขาวิชาเหล่านี้ต้องไปเรียนต่อประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) หรือปริญญาโทในสาขาวิชาเกี่ยวกับการสอนเท่านั้นถึงจะได้รับใบประกอบวิชาชีพได้

          หากอยากเป็น ครูภาษาจีนแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพครูควรเรียนในหลักสูตร ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) การศึกษาศาสตรบัณฑิต (กศ.บ.) และ ครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) หากเป็นหลักสูตร  ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)   ต้องไปเรียนเพิ่ม ป.บัณฑิต หรือปริญญาโท 2 ปี

          แต่ถ้าใครอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือประกอบวิชาชีพอื่นที่ใช้ภาษาจีน จะเรียนสาขาวิชาภาษาจีน ในหลักสูตรคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หรือเรียนคณะมนุษย์ศาสตร์/ศิลปศาสตร์ก็ได้

ดาวน์โหลดบทความในรูปแบบไฟล์ PDF ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1avFlSH65Mjb-6yNOCfSAmFtrxPKJdlOb/view

หมายเหตุ บทความในส่วนพัฒนาการครูภาษาจีนในประเทศไทยที่เริ่มจากช่วงโรงเรียนมาตรฐานสากลเป็นต้นมา การแบ่งช่วงระยะเวลาเป็นทรรศนะของผู้เขียนเท่านั้น

บทความโดย ณรงค์ชัย จันทร์ปัญญา

เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

สพฐ.ให้ทุนส่งครูไปเรียนภาษาจีนแดนมังกร เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/qol/detail/9510000076834 

สพฐ.ให้ทุนทุนการศึกษาด้านการสอนภาษาจีน 100 ทุน เข้าถึงได้จาก https://www.jobthaiweb.com/showgov.php?govID=8960

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Facebook Messenger
error: ไม่สามารถคัดลอกได้ !!